Saturday, July 12, 2014

การเลือกซื้อจักรยานพับ

ทำไมต้องจักรยานพับด้วยนะ?

สาเหตุของคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนเมืองเลือกที่จะใช้จักรยานพับ เท่าที่ศึกษาข้อมูลมาพบว่าส่วนใหญ่ซื้อเพราะว่า

  • การเดินทางที่สะดวก เพราะพับได้ไม่เกะกะ
  • พื้นที่เก็บจักรยาน เพราะขนาดเล็ก แม้ไม่พับก็ยังมีขนาดที่เก็บในบ้านได้สะดวก
  • จักรยานประเภทนี้ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด จะเป็นจักรยานแบบไซด์เดียว คือขี่ได้ทั้งคนตัวสูงและคนตัวไม่สูงนัก ผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก ขี่ได้หมด

สิ่งที่ทำให้จักรยานพับนั้นแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจาก รถจักรยานประเภทอื่นๆ ก็คือ

  • ลักษณะเฟรม ที่ค่อนข้างหนา มีจุดพับตั้งแต่หนึ่งจุดขึ้นไป 
  • ขนาดของล้อที่เป็นล้อขนาดเล็กที่มีให้เลือกตั้งแต่ขนาด 14 นิ้วจนถึง 24 นิ้ว แต่บ้านเราส่วนใหญ่จะเลือกเล่นในขนาด 16 นิ้ว กับ 20 เป็นหลัก


ถ้าจะซื้อจักรยานพับจะเริ่มยังไงดีหละทีนี้?

  • ระยะเวลาการพับ พับง่าย ถ้าหากเอาแบบเร็วอย่างยี่ห้อบรอมตั้น หรือ Bike Friday Tikit แต่ก็ราคาเอาเรื่องเหมือนกัน หรือเลือกรุ่นที่มันพับง่ายๆ และอกาสพับบ่อยแค่ไหน ซึ่งอยู่ที่พฤติกรรมการใช้งานแต่ละบุคคล
  • ขนาดของรถหลังจากพับ นอกจากความยากง่ายในการพับแล้ว เวลาพับเสร็จมีขนาดเหมาะอย่างที่เราต้องการไหม หากชอบเล็กๆ ก็คงต้องหันมามองล้อ 16 นิ้ว แต่คิดว่าขนาดเอาพอเหมาะแต่ขี่ได้ไกลๆสบายๆล้อ 20 นิ้วก็น่าจะเหมาะกว่า
  • น้ำหนักตัวรถ ด้วยการออกแบบที่จะต้องมีจุดหมุนเยอะ และแต่ละจุดต้องแข็งแรงเลยเป็นไปได้ยากที่จะให้มันเบา แต่ถ้าจะเอาให้เบาก็แลกด้วยราคาที่หนักสวนกระแสความเบา
  • เฟรม รถพับส่วนใหญ่เป็นเฟรมแบบอลูมิเนียม เนื่องจากความแข็งแรงและน้ำหนักที่เบา ส่วนเฟรมแบบโครโมลี่ ราคาขายต่อไม่ค่อยร่วง เช่น Dahon ที่เป็นเฟรมโครโมลี่ การเลือกซื้อก็ลองพิจารณาดูความแข็งแรงของจุดพับต่างๆ ถ้าพับบ่อยๆ แล้วหลวมง่าย เวลาขี่รถจะมีเสียงอ๊อดแอ๊ด น่ารำคาญและรถก็ขี่แบบคลอนๆ ทั้งคัน
  • จุดปรับขนาดและระดับต่างๆ เนื่องจากรถประเภทนี้มันไม่มีไซด์ หากต้องใช้ขี่ร่วมกันหลายๆ คนในบ้าน ก็เลือกรุ่นที่มันปรับได้หลายๆ จุดก็ดี ปรับความสูงเบาะ ปรับระยะแฮนด์ขึ้นลงได้ ปรับมุมองศาแฮนด์ และระยะต่างๆ ที่จำเป็น เวลาขี่จะได้สบายมากขึ้นไม่ต้องเอื้อม หรือก้มมาก
  • ส่วนประกอบของรถ หากรถที่ใช้อุปกรณ์ในเกรดที่สูง น้ำหนักตัวรถก็จะเบาตามไปด้วยเช่น ส่วนประกอบที่เป็นคาร์บอน หรืออลูมิเนียม และแน่นอนว่าราคาของรถก็จะแพงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน อีกเรื่องหนึ่งที่อยากให้มองกันก็คือการใช้กับอุปกรณ์มาตราฐานทั่วไปได้ สิ่งนี้หลายคนมองข้ามไปคิดว่ารถซื้อมาแล้วให้มาครบไม่ต้องไปทำอะไรเพิ่มแล้วให้มาอย่างไรก็ใช้ไปอย่างนั้น มันก็ถูกเพียงครึ่งเดียวนะครับ รถพับหลายยี่ห้อเลือกใช้อุปกรณ์ในรถบางอย่างที่ทำขึ้นเฉพาะไม่สามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์จักรยานทั่วไปได้ เวลาจะเปลี่ยนใหม่ หรือแต่งให้มันเท่ห์เพิ่มขึ้น อาจจะต้องใช้อุปกรณ์ของค่ายเท่านั้น ซึ่งก็เหมือนโดนล๊อคคอ ต้องจ่ายไปแบบไม่มีทางเลือก
  • ขนาดล้อ และยาง ขนาดล้อที่มีขนาด 20 นิ้ว เป็นขนาดพิมพ์นิยม ไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป แต่ก็มีบางยี่ห้ออย่าง บรอมตั้น หรือ โมลตั้น ที่เลือกใช้ล้อในขนาดที่เล็กลงกว่า 20 นิ้ว เพื่อความกระทัดรัดในการพับ และในขนาดล้อ 20 นิ้วยังแบ่งออกเป็นขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 406 กับ 451
  • 406 หมายถึงเส้นผ่านศูนย์กลางของล้อที่มีขนาด 406mm หรือ 40.6cm.
  • 451 หมายถึงเส้นผ่านศูนย์กลางของล้อที่มีขนาด 451mm หรือ 45.1cm 
  • ส่วนยางที่ใช้ก็จะแตกต่างกันด้วย ล้อ 406 จะใช้ยางเป็นจุดทศนิยม เช่น 20" 1.25 20" 1.50 20” 1.75
  • ส่วนยาง สำหรับล้อ 451 คือขนาดยางเป็นเศษส่วน เช่น20"1 1/8 20"1 3/8
  • แฮนด์ กับ เกียร์ รถพับในตลาดส่วนใหญ่ในเวลานี้จะเป็นรถพับแฮนด์ตรงกันเป็นส่วนใหญ่ เพื่อความสะดวกในการพับมากกว่าแฮนด์เสือหมอบ และการขับขี่ก็สบายมากกว่า เพราะจุดประสงค์รถพับออกแบบมาให้ขี่กันแบบสบายๆ มากกว่าจะเอาประสิทธิภาพด้านความเร็ว  ส่วนเรื่องของเกียร์นั้น รถพับส่วนใหญ่มี สปีดกันไม่มาก อยู่ในช่วง 8 สปีด กับ 16 สปีดกันเป็นส่วนใหญ่ เพราะเพียงแค่นี้ก็ใช้งานกันเพียงพอแล้ว และในส่วนของชิฟเตอร์ หรือระบบการเปลี่ยนเกียร์ก็มักจะใช้ในรูปแบบเดียวกับพวกเสือภูเขา หรือไม่ก็มือบิดกันเป็นส่วนใหญ่
  • สำหรับใครอยากได้รถพับขี่สนุกๆผมว่ามองหาแฮนด์ตรงน่าจะเหมาะกว่า ด้วยสาเหตุในเรื่องท่านั่งที่สบายกว่าไม่ต้องก้มและเอื้อมมาก

รถพับในประเทศไทย

  • Dahon เจ้าพ่อในวงการรถพับ ด้วยประสบการณ์การสร้างรถพับมากว่า 30 ปี โดย Dr. David T Hon เป็นรถพับที่คนไทยรู้จักดี แม้ว่าเมื่อช่วงไม่กี่ปีที่แล้ว Dahon จำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อเป็น Dr.Hon สักพักใหญ่ด้วยปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ชื่อ แต่ในที่สุด Dahon ก็กลับมาขายอีกครั้ง รถยี่ห้อนี้คุณภาพกับราคาหลายคนยอมรับว่าเป็นที่พึงพอใจ มีรถให้เลือกหลายรุ่น หลายราคา เป็นรถพับที่ถือว่าเป็นมาตราฐานสำหรับใครที่จะคิดเริ่มต้น หากเทียบกับรถยนต์ผมมองว่ามันคือ Toyota นั่นเอง
  • Tern เป็นแบรนด์ใหม่ในประสบการณ์เก่าของลูกชาย Dr.David Hon เป็นแบรนด์ที่มีมาไม่นานเท่าไร แต่หน้าตารถและโครงสร้างลักษณะเหมือน Dahon มาก เพราะสายเลือดเดียวกัน แต่เท่าที่สังเกตดู Tern จะเน้นคุณภาพการออกแบบและการผลิตที่สูงกว่า Dahon โดยเฉพาะจุดพับจะแข็งแรงกว่า อะไหล่จะเลือกใช้เกรดดูดีกว่า แต่รุ่นของรถจะไม่ค่อยมากเท่ากับ Dahon ดูแล้วเหมือนเป็นรถพับตลาดที่เหนือกว่า Dahon หน่อยในราคาที่แพงขึ้น เมื่อให้ Dahon เป็น Toyota แล้วขอยกให้ Tern เป็น Lexus ก็แล้วกันแม้ความจริงแล้ว Dahon กับ Tern คุณภาพหนีกันไม่เยอะก็ตาม
  • Java แบรนด์ อิตาลี ผลิตในเอเซีย ถือว่าประสบความสำเร็จในบ้านเรามากทีเดียว สังเกตจากการออกงานจักรยานที่เมืองทองที่ผ่านมา บูธของ Java มีคนให้ความสนใจมากทีเดียว Java ไม่ได้ผลิตแต่รถพับแต่มีรถทุกประเภท สำหรับตลาดรถพับของ Java หลายคนให้ความนิยมมาก ด้วยเหตุผลเรื่องของการออกแบบที่ดู ซิ่ง ปราดเปรียว อุปกรณ์ที่ให้ค่อนข้างคุ้ม เบรคที่ใช้เป็น ดิสก์เบรค เป็นส่วนใหญ่ ตัวเฟรมออกแบบมาแบบไม่จำกัดอุปกรณ์ ใช้อุปกรณ์ร่วมได้สารพัด เช่นเบรค ได้หลากหลายรูปแบบ ลักษณะการพับจะคล้ายๆกับพวก Dahon แต่รถของ Java ราคาจะค่อนข้างถูกกว่ามาก เมื่อเทียบกันตัวต่อตัว จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ Java ขึ้นมายืนในตลาดบ้านเราค่อนข้างเร็ว
  • Brompton ผมขอจัดอยู่ในรถพับเกรด พรีเมี่ยม ก็แล้วกันโดยมันต่างกันตั้งแต่แหล่งผลิตแล้ว Brompton เป็นรถพับที่ผลิตในประเทศอังกฤษแท้ๆ การออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ และใช้เวลาพับค่อนข้างเร็วมาก และเมื่อพับเสร็จก็มีขนาดที่ค่อนข้างเล็กมาก จนมีคนบอกว่าถ้าขี่บรอมตั้นไปเที่ยวสามคน ขากลับพับรถขึ้น Taxi ยังกลับมาพร้อมกันในรถ Taxi คันเดียวกันได้ จุดเด่นของยี่ห้อนี้นอกจากเรื่อง คุณภาพและการพับที่เร็วแล้ว เรื่องของสีสรรก็เป็นจุดขายอย่างหนึ่งที่ทำให้แบรนด์นี้กลายเป็นรถที่หลายคนชอบ เพราะมีสีสรรและแฮนด์ให้เลือกใช้หลายแบบ ข้อจำกัดของยี่ห้อนี้คือเรื่องอุปกรณ์ต่างๆค่อนข้างเฉพาะทาง ราคาสูงมาก อุปกรณ์ตบแต่งก็แพงเช่นกัน จำนวนเกียร์มีไม่มากแต่ก็พอจะมันส์ไปได้ทุกที่ ล้อมีขนาด 16 นิ้ว แต่ก็ขี่สนุกไม่แพ้คันใหญ่
  • Bike Friday จักรยานวันศุกร์ เป็นรถพับเกรดพรีเมี่ยมอีกยี่ห้อที่ตลาดบนในบ้านเราให้ความสนใจ ตัวรถผลิตในอเมริกา ด้วยการผลิตแบบไม่รีบร้อนออกมาจำนวนไม่มากจุดเด่นยี่ห้อนี้นอกจากตัวรถที่ดูสวยงามเป็นเอกลักษณ์แล้ว ยี่ห้อนี้ยังมีบริการสั่งตัดรถตามขนาดตัวผู้ขี่อีกด้วย จัดว่าเป็นรถพับที่เรามักจะเห็นไม่มากนักบนท้องถนนบ้านเราส่วนเรื่องราคาก็จัดว่าสูงพอสมควร ตามคุณภาพมาตรฐานการผลิตในแถบอเมริกา 
  • Alex Moulton จริงๆยี่ห้อนี้ไม่อยากจัดอยู่ในกลุ่มรถพับเลยครับ น่าจะเรียกว่ารถถอดเสียมากกว่าเพราะมันพับไม่ได้แต่ถอดแยกเป็นสองส่วนแทน ยี่ห้อนี้เป็นตำนานของรถพับเลยก็ว่าได้โดย Dr. Alex Moulton ผู้คิดค้นระบบช่วงล่างรถยนต์ Mini เป็นจักรยานที่มีตำนานและมีเรื่องราวมากว่า 50 ปี และทุกวันนี้ยี่ห้อนี้ยังคงผลิตในประเทศอังกฤษ โดยราคาค่าตัวเรียกได้ว่าระดับ ซุปเปอร์พรีเมี่ยม มีราคาเริ่มต้นหลักแสนบาท จนไปเฉียดล้านบ้าน แม้ว่าราคาจะสูงแต่ในบ้านเราก็มีรถยี่ห้อนี้จำนวนไม่น้อย ตัวเฟรมเป็นเอกลักษณ์คล้าย หอไอเฟิล ในปารีสเป็นโครงถักที่เรียกว่า สเปรซเฟรม หากถามผมว่ารถรุ่นนี้ขี่ดีไหม ตอบแบบไม่ลังเลว่าขี่ดีมากๆๆๆ มีระบบกันสะเทือนหน้าหลังครบ เป็นจักรยานล้อเล็กที่ทำความเร็วได้ไม่แพ้เสือหมอบ จนเคยเป็นตำนานจักรยานที่เร็วที่สุดในโลก ฉีกตำราข้อจำกัดขนาดวงล้อที่เล็กแต่ทำความเร็วได้แซงรถใหญ่ คุณภาพวัตถุดิบในการผลิตสุดยอด ขนาดผมมีรถ F Frame อายุ 50 ปีรุ่นแรกจับมาปัดฝุ่นทำใหม่ เหล็กตัวถังผ่านไป 50 ปีไม่มีรอยผุกัดกร่อนเลยสุดยอดครับ
  • Airnimal รถพับจากเมืองผู้ดี เกาะอังกฤษ เป็นรถพับที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ เป็นที่นิยมมากในแถบยุโรป เนื่องด้วยการออกแบบที่เป็นแนวสไตล์อังกฤษ มีสมรรถนะการขับขี่ที่นุ่มนวล และเกาะถนนมากที่สุดในบรรดารถพับทั้งหมด เป็นรถพับที่ให้อารมณ์แบบเดียวกับเสือหมอบ หรือเสือภูเขาขนาดมาตราฐาน แต่มีตัวรถในขนาดที่ยังพกพาสะดวก Airnimal สามารถทำความเร็วได้ดี และขี่ได้นานไม่เมื่อยด้วยองศาท่อนั่งที่คำนวนให้ปั่นได้สบาย และทำความเร็วได้ดี Airnimal สามารถเลือกประกอบได้หลากหลายแบบตามใจเจ้าของ โดยสามารถเลือกประกอบให้เป็นลักษณะรถ City Bike แฮนด์ตรง หรือจะประกอบในรูปแบบ Road bike สไตล์เสือหมอบที่ทำความเร็วได้ประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวรถสามารถเลือกใช้ล้อได้หลากหลายขนาดตั้งแต่ 20 นิ้ว จนถึงขนาด 26 นิ้ว ส่วน กรุ๊ปขับเคลื่อน สามารถเลือกใช้ได้ทั้ง กรุ๊ปแบบเสือภูเขา หรือ เสือหมอบ ที่เป็น กรุ๊ปมาตรฐานแบบเดียวกับรถทั่วไป 

จักรยานที่ดีที่สุดคงไม่ใช่จักรยานที่แพงที่สุด แต่เป็นจักรยานที่เราขี่สบายที่สุดต่างหาก เหมาะสมตามงบประมาณ และการใช้งาน

เครดิต:

  • https://www.facebook.com/gadgetbikethailand

Tuesday, April 15, 2014

รู้จักเฟรมจักรยานก่อนเลือกซื้อ

วัสดุที่ใช้ประกอบเฟรมจักรยาน มีผลต่อการใช้งานและดูแลรักษา วัสุดที่ใช้ประกอบเฟรมจักรยานแบ่งออกเป็นดังนี้

ไทยทาเนียม (Titanium)

  • ไททาเนียม Titanium) เป็นธาตุในโลหะที่ถูกค้นพบในปี ค.ศ.1797 โดย William Gregor เป็นโลหะที่มีแสงเป็นประกายขาวคล้ายเงิน มีความทนทานต่อการสุกร่อนเป็นเยี่ยม ดัดโค้งงอได้ตามต้องการเมื่อร้อน มีน้ำหนักเบา เมื่อทำให้เป็นวัตถุผสม มีความแข็งแรง ทนต่อการบิดดึงได้ดีมาก แต่ขึ้นรูปหรือเชื่อมต่อให้สวยงามได้ยาก ต้องใช้ผู้ชำนาญและอุปกรณ์ในการเชื่อมต่อชนิดพิเศษ ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในการทำชิ้นส่วนของเครื่องบิน ยานอวกาศ เรือดำน้ำ ดาวเทียม รวมถึงรากฟันเทียม และบางส่วนของขีปนาวุธ ไททาเนียมเป็นวัตถุต้องห้ามที่ต้องมีใบอนุญาตในการซื้อขาย มีราคาแพง ไม่มีขายตามร้านค้าวัสดุทั่วไปเหมือนเหล็กหรืออลูมิเนียม
  • เฟรมจักรยานไททาเนียมมีอยู่ 2 เกรด คือ ท่อที่ผลิตในอเมริกา กับท่อที่ผลิตในประเทศจีนและรัสเซีย ข้อแตกต่างกันที่ต้นทุนการผลิตและคุณภาพ ราคาจึงแตกต่างกันมาก โดยปกติไททาเนียมจะมีส่วนผสมของโลหะสองชนิตามอัตราส่วนดังนี้ คือ
  • 3AL/2.5V = (Aluminium = 3 % / Vanadium = 2.5 % ) ส่วนที่เหลือเป็น Titanium
  • 4AL/6V = (Aluminium = 4 % / Vanadium = 4 % ) ส่วนที่เหลือเป็น Titaniuam
  • ท่อไททาเนียมที่ทำจากรัสเซียมีทั้งสองชนิดเหมือนกัน แต่เมื่อทดสอบคุณภาพแล้วพบว่าท่อของรัสเซียมีคุณภาพด้อยกว่าในด้านความทนทานต่อแรงบิดดึงที่ทำในอเมริกาถึง 40% 
  • ส่วนท่อไททาเนียมที่ผลิตในประเทศจีนใช้สวนผสม 3AL/2.5V ถึงแม้จะมีส่วนผสมทางเคมีอยู่ในระดับเดียวกันกับมาตรฐานทั่วไป แต่พบว่าของจีนยังมีส่วนผสมอื่นๆ ปนอยู่ ทำให้ความแข็งแรงด้อยไปกว่าที่ผลิตในรัสเซียเสียอีก จึงลงความเห็นว่าท่อไททาเนียมทั้งที่ผลิตในรัสเซียและผลิตในประเทศจีน ยังมีคุณภาพและน้ำหนักไม่ดีเท่ากับที่ผลิตในอเมริกา
  • ผู้ผลิตเฟรมจักรยานหลายรายที่ใช้ท่อไททาเนียมที่ทำในประเทศรัสเซียและจีนต้องใช้กลยุทธ์ในการขายสินค้าของตนโดย "รับประกันคุณภาพตลอดอายุการใช้งาน" แต่ถ้าผู้ซื้อมีปัญหาได้รับการเปลี่ยนเฟรมไปแล้ว ปัญเดิมก็จะตามาอีก
  • ในสหรัฐอเมริกา Sandvik คือผู้ผลิตท่อไททาเนียมที่มีชื่อเสียงที่สุดรายหนึ่ง และเป็นที่นิยมสำหรับการนำมาทำเฟรมจักรยาน จึงมีการประมูลสิทธิ์ในการซื้อท่อเพื่อไปใช้ในการทำจักรยานของตนแต่เพียงผู้เดียว อย่างไรก็ตาม Sandvik ไม่ใช่ผู้ผลิตท่อไททาเนียมรายเดียวในอเมริกา เช่น เฟรมชั้นยอดของ Merlin กลับไปใช้ท่อไททาเนียมของ Haynes ที่ผลิตในเมือง Arcadia รัฐ Louisiana ซึ่งเป็นแหล่งผลิตท่อไททาเนียมระดับท๊อป ราคาแพง คุณภาพเยี่ยมอีกยีห้อหนึ่ง

เหล็ก (Steel)

  • เหล็กเป็นวัสดุดั้งเดิมในการใช้ทำตัวถังจักรยาน ให้ความรู้สึกดีในการขับขี่ ควบคุมง่าย ขี่สนุก ไม่แข็งกระด้าง แข็งแรง ทนทาน รับน้ำหนักได้ดี
  • ข้อเสีย คือ มีน้ำหนักมาก ลำบากในการดูแลรักษา เพราะเป็นสนิมง่าย แต่ก็ยังมีผู้ผลิตที่ใช้เหล็กคุณภาพดี ทำรถจักรยานออกมาวางจำหน่ายไปไม่น้อยดีเดียว เช่น Breezer และ Voodoo และมีนักแข่ง และผู้ที่นิยมจักรยานไม่น้อยทีเดียวที่นิยมชมชอบ กับตัวถังจักรยานที่ผลิตจากเหล็ก แต่ด้วยคุณสมบัติของเหล็กตามที่ได้กล่าวไว้ว่ามีน้ำหนักมาก จึงไม่ค่อยมีนักแข่งนิยมใช้กันมากนัก เพราะยังมีวัสดุประเภทอื่นที่มีคุณภาพใกล้เคียงหรือดีกว่าใช้ในการทำตังถังจักรยาน ประกอบกับข้อได้เปรียบที่มีน้ำหนักน้อยกว่าตัวถังที่ทำด้วยเหล็ก ด้วยเหตุผลนี้เหล็กจึงไม่ค่อยจะเป็นที่นิยมนำมาใช้เป็นวัสดุสำหรับผลิตจักรยานในเชิงการกีฬา เหล็กจึงเป็นที่นิยมในการผลิตตัวถังจักรยานในเชิงพาณิชย์โดยทั่วไปเสียมากกว่า ด้วยคุณสมบัติที่แข็งแกร่งของมัน เหล็กจึงยังสามารถครองตลาดจักรยาน

โครโมลี่ (Chromoly)

  • โลหะผสมระหว่างเหล็กกับโมลิบดีนั่ม (Molybdenum) น้ำหนักเบากว่าเหล็ก ท่อโครโมลี่ดีๆ บางยีห้อมีน้ำหนักไม่ต่างจากไททาเนี่ยม
  • จุดเด่นของโครโมลี่ีคือ ขี่สนุก แต่ข้อเสียคือ ดูแลรักษาค่อนข้างยากพอสมควร เป็นสนิมง่ายเหมือนเหล็ก ถึงอย่างไรก็ยังเป็นที่นิยมของบรรดานักจักรยานที่แท้จริง หรือนักแข่งมากพอสมควร ท่อโครโมลี่ที่มีชื่อเสียงได้แก่ Ritchey / Reynolds และ Columbus เฟรมโครโมลี่ ราคาไม่แพงนัก ที่นิยมใช้กันเห็นจะเป็นรถของ KHS โดยใช้ท่อของ True Temper

อลุมิเนียม (Aluminium)

  • เฟรมยอดนิยม เพราะมีน้ำหนักเบา ดูแลรักษาง่าย ไม่เป็นสนิม (แต่เกิดการผุกร่อนได้ อันเกิดจากอลูมิเนียมอ๊อกไซด์) มีให้เลือกหลายเกรด เช่น 6061 / 7005 / หรือ Elan3. / Elite สูตรผสมของท่อ Easton
  • รถเฟรมอลูมิเนียมขี่ไม่ค่อยนิ่มนวลเหมือนเฟรมชนิดอื่น ค่อนข้างแข็งกระด้างเมื่อขับขี่ในทางวิบาก แต่กลับตรงกันข้ามขี่ได้ดีในทางเรียบและทางสูงชัน ราคาไม่แพง มีให้เลือกมากมายในท้องตลาด รูปร่างและสีสรรคสวยงามสดุดตาผู้พบเห็น
  • ข้อควรระวังในการดูแลรักษา เนื่องจากอลูมิเนียมสามารถเกิดการผุกร่อนได้ด้วยหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่สำคัญที่สุด คือ ไอน้ำจากน้ำเค็ม สำหรับผู้ที่อยู่ติดทะเลควรหมั่นรักษาเช็ดทำความสะอาดด้วยทุกครั้งหลังจากการใช้งาน และที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ คือ เหงื่อจากตัวเราในระหว่างการขับขี่ หยดเหงื่อที่ไปโดนเฟรมอลูมิเนียม หากเราละเลยก็อาจจะทำให้เฟรมของเราเกิดการผุกร่อนได้เช่นกัน

คาร์บอนไฟเบอร์ (Carbon Fiber)

  • อีกเทคโนโลยีที่คิดค้นมาเพื่อทำเฟรมจักรยาน และประสบความสำเร็จมานานแล้ว และเป็นที่นิยมชื่นชอบของบรรดานักจักรยานโดยทั่วไปเช่นกัน เพราะมีข้อดีของวัสดุชนิดนี้คือ มันสามารถทำให้แข็งกระด้างมากหรือน้อย ทำให้เบามาก หรือนำไปเสริมในบางจุดที่ต้องรับแรงกระแทกมากๆ ได้ นอกจากนั้นยังทนต่อการกัดกร่อนสูง
  • ข้อเสีย คือ ราคารแพง เชื่อมต่อยาก ดังนั้น ตามข้อต่อที่รับแรงกระแทกสูงๆ จะเกิดปัญหาได้ง่าย เขาจึงเลือกที่จะนำคาร์บอนไฟเบอร์ไปทำตัวถังประเภทโมโนค็อด (monocogne) หรือเฟรมชิ้นเดียวแทน ดังที่เห็นกันมากในรถฟูลซัสเพนชั่นทั่วไป


เครดิต:

  • http://web.agri.cmu.ac.th/agbike/bikenew/frame.htm

ประเภทจักรยาน


ประเภทจักรยาน

จักรยานทัวร์ริ่ง (Touring Bicycle)

  • เน้นขี่ทางไกล บนทางเรียบ ใส่สัมภาระได้ 
  • ถ้าตัวถังทำจากโครโมลี่จะขี่สบายและนุ่มกว่า เพราะเป็นโลหะที่มีการซับแรงที่ดีกว่า เมื่อขี่นานๆ ร่างกายจะไม่ล้า
  • ส่วนตัวถังที่ทำจากอลูมิเนียมจะเน้นเรื่องความเบา พอเบาจะมีการถ่ายแรงลงไปที่รถให้ทำความเร็วได้ดีขึ้น แต่สิ่งที่เสียไปก็คือ จะกระด้างและกระแทกมากกว่า

ประเภทจักรยาน


จักรยานเสือภูเขา (Mountain Bicycle)

  • ออกแบบมาเพื่อการใช้งานสมบุกสมบัน มีโช้ครับแรงกระแทก คือ แบบมีโช้คหน้า และ แบบมีโช้คหน้าและโช้คหลัง

ประเภทจักรยาน

จักรยานไฮบริด (Hybrid Bicycle)

  • จักรยานลูกผสมระหว่าง "จักรยานทัวร์ริ่ง และจักรยานเสือภูเขา"
  • ลักษณะทั่วไปเหมือนเสือภูเขา จะแตกต่างกันอยู่ 2 จุดสำคัญ คือ ใช้ล้อและยางเสือหมอบเพื่อความสะดวกในการขับขี่ในเมือง และเนื่องจากไม่มีจุดประสงค์ในการ "ลุย" ดังนั้นโช้คอัพหน้าจึงไม่ต้องใช้แบบเสือภูเขาที่ต้องคอยดูดซับแรงกระแทก แต่ใช้เหมือนกับเสือหมอบแทน

ประเภทจักรยาน


จักรยานซิตี้ไบค์ (City Bicycle)

  • เป็นรถใช้ในเมือง ดัดแปลงมาจากเสือหมอบ ขนาดล้อเท่าเสือหมอบ ลักษณะเฟรมของตัวรถจะลดลงมาต่ำให้ใช้ได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย
  • มีบังโซ่ให้สามารถใส่กางเกงขายาวในการขี่ได้ ขากางเกงจะไม่เข้าไปพันกับโซ่ได้
  • มีบังโคลนล้อหน้าและหลัง เพื่อเวลาฝนตกจะได้ไม่ดีด
  • มีจานหน้าใบเดียว เพราะใช้ในเมืองไม่ได้ขึ้นเขา

ประเภทจักรยาน

จักรยานมินิเวโล่ (Mini Velo Bicycle)

  • จักรยานเสือหมอบ และจักรยานเสือภูเขาที่ถูกย่อขนาดให้เล็กลงมา แต่ยังคงไว้ซึ่งรูปทรงอันเดิม

ประเภทจักรยาน


จักรยานพับได้ (Folding Bicycle)

  • จักรยานขนาดเล็ก พับให้เล็กลงได้ สะดวกต่อการเชื่อมต่อรถสาธารณะ


เครดิต:

  • https://sites.google.com/site/saveearthwithbike/naewkhid-meuxng-cakryan/prapheth-cakryan


การปรับแต่งจักรยานให้เหมาะกับผู้ขี่

เมื่อเลือจักรยานที่เหมาะสมกับการใช้งาน และขนาดของเรา จะต้องทำการปรับตั้งอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงท่าทางการขี่ เพื่อป้องกันอาการปวดเมื่อยจากการขี่จักรยาน

การปรับแต่งจักรยานให้เหมาะกับผู้ขี่


  • นั่งบนจักรยานแล้วหมุนขาจานให้ทำมุม 90 องศา กับพื่น โดยขาทำมุมอยู่ระหว่าง 10-20 องศา จึงจะถือว่าเหมาะสม
  • หมุนขาจานให้ทำมุมระนาบกับพื้นแล้วนำลูกดิ่งมาทำการวัดโดยให้ลูกดิ่งเริ่มจากสะบ้าหัวเข่าเราแล้วดิ่งลงไปให้เส้นด้ายลงไปที่กึ่งกลางของลูกบันไดพอดี ถ้าลูกดิ่งไม่ลงตรงกึ่งกลางบันไดให้ทำการปรับเบาะนั่งเลื่อนไปข้างหน้า หรือข้างหลัง จนกว่าลูกดิ่งลงตรงกึ่งกลางบันไดพอดี
  • ให้ลำตัวทำมุม 45 องศา โดยจับที่มือเบรค
  • มองไปที่ดุมล้อของ โดยจะต้องตรงกับคอแฮนด์ หรือสเตมพอดี


เครดิต:

  • http://thbike.blogspot.com/2011/04/bicycle-fit.html

การปรับตั้งเบาะจักรยาน

การเซ็ตเบาะจักรยานอย่างถูกต้องจะทำให้การปั่นจักรยานเป็นไปอย่างสนุกสนาน ไม่เมื่อยล้าเร็ว ไม่เจ็บก้นมาก ลดอาการบาดเจ็บของตัวเข่า และถ่ายทอดแรงจากตัวเราไปยังรถจักรยานได้ดียิ่งขึ้น

การปรับตั้งเบาะจักรยาน

การปรับตั้งเบาะจักรยาน

การปรับตั้งเบาะจักรยาน


ความสูงของเบาะนั่ง

  • ถอดรองเท้าออก แล้วเอาส่วนของส้นเท้าวางบริเวณแกนบันได
  • ถีบบันไดลงล่างให้แนวของขาจานอยู่ในแนวเดียวกันกับแนวท่ออาน ปรับความสูงของอานจนกระทั่งขาข้างนั้นเหยียดตรงจน (เกือบ) สุด
  • ระยะจากด้านบนสุดของเบาะไปจนถึงบันได เมื่อนั่งบนเบาะอย่างมั่นคงแล้วใช้ปลายเท้าเหยียบบันไดในจังหวะที่ถีบขาลงจนสุดขาจะต้องเหยียดได้เกือบสุด ไม่ใช่สุดเหยียดอย่างที่หลายคนทำกัน เพราะนั่นจะทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบๆ หัวเข่าบาดเจ็บได้ แม้จะได้กำลังมากที่สุดก็จริง แต่ไม่คุ้มกับค่ารักษาตัว

การปรับเบาะนั่ง

  • ควรวางตำแหน่งเบาะนั่งให้ขนานกับพื้นโลก โดยการใช้ระดับน้ำเป็นตัววัด

ระยะเลื่อนหน้าหลังของเบาะ

  • นั่งบนเบาะตามปกติ จัดให้ขาจาน (Crank arm) ทั้งสองข้างอยู่ขนานกับพื้น
  • วางเท้าบนบันไดที่อยู่ด้านหน้าด้วยส่วนที่ค่อนไปทางปลายเท้่ โดยให้โคนหัวแม่เท้า (Ball of foot) วางตรงกับแกนบันได
  • เลื่อนเบาะไปมาจนกว่ารอยบุ๋มใต้หัวเข่า/ลูกสะบ้า (Bump below kneecap) จะดิ่งกับแกนบันได (เมื่อมองจากด้านข้างของขานำ)
  • การปรับตั้งตามตำแหน่งนี้จะทำให้การออกแรงถีบบันไดได้ดีที่สุด และปลอดภัยกับหัวเข่า


เครดิต:

ส่วนประกอบของจักรยาน



เสต็ม (Stem)

  • เสต็มมีหน้าที่จับแฮนด์และคอให้ยึดติดกัน มีองศาต่างกันและความแข็งแรงตามแต่ประเภทรถนั้นๆ

แฮนด์ (Hand)

  • แฮนด์คือส่วนที่มีไว้บังคับรถคล้ายพวงมาลัยรถยนต์ และเป็นที่ยึดอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ชุดขับเคลื่อน เบรค เป็นต้น

โช๊คอัพ

  • โช๊คอัพมีหน้าที่จับยึดล้อกับเฟรมเข้าด้วยกันโดยมีระบบกันสะเทือนในตัว ส่วนรถที่ไม่ต้องการให้เสียกำลังขับเคลื่อนจะใช้ตะเกียบทำหน้าที่คล้ายกันแต่ไม่กันสะเทือน

ล้อ

  • ประกอบด้วยวงล้อหรือขอบล้อ ซี่่ลวด ดุมล้อ แกนปลด ยางนอก และยางใน

เฟือง

  • เฟืองหลังติดอยู่ที่ล้อด้านหลังมีหน้าที่เป็นตัวทดกำลังรอบต่างๆ ของการแปรจากชุดขับเคลื่อนตัวอื่น

ตีนผี

  • มีหน้าที่ร้อยโซ่ให้เข้ากับเฟืองตามคำสั่งของชิพเตอร์ที่สั่งผ่านสายเคเบิ้ล ตีนผียังทำหน้าที่รักษาความตึงของโซ่ให้พอเหมาะอยู่ตลอดเวลา
  • ตีนผียังมีส่วนประกอบอื่น เช่น ล้อเกลี่ย เป็นต้น

จานหน้า

  • มีหน้าที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของจักรยานที่รับแรงขับมาจากเท้า โดยผ่านแป้นบันไดและขาจาน
  • จานหน้ามาตรฐานของจักรยานเสือภูเขามี 3 ใบ

ขาจาน

  • มีหน้าที่ยึดติดกับจานเพื่อรับแรงปั่นจากเราให้เป็นวงกลมโดยเชื่อมต่อสองฝั่งของของขาจานด้วยกระโหลก

แป้นบันได

  • แป้นจุดหมุนไว้วางเท้าเวลาปั่นเพื่อขับเคลื่อนรถ

กระโหลก

  • มีหน้าที่ยึดขาจานขับเคลื่อนสองฝั่งให้ติดกัน
  • ในกระโหลกจะมีลูกปืนทั้งแบบเม็ดและแบบตลับเพื่อความลื่นไหลขณะเราปั่น

ชิพเตอร์

  • มีหน้าที่ปรับเปลี่ยนทดเกียร์จากแรงปั่นของเราที่กระทำต่อขาจานและจานหน้า เพื่อให้เกิดความเหมาะสมต่อการปั่นในแต่ละพื้นที่ และความเร็ว โดยมีส่วนในการลดการสึกหรอจากแรงเครียดด้วย
  • จักรยานเสือภูเขามีชิพเตอร์ยึดติดอยู่ที่ด้านซ้ายขวาของแฮนด์จักรยาน ชิพเตอร์ด้านซ้ายจะควบคุมโซ่หน้าผ่านการดีด และดึงของสับจาน เพื่อให้โซ่วางลงที่จานหน้า 3 ใบ ส่วนชิพเตอร์ด้านขวาของแฮนด์จะควบคุมตีนผีให้ร้อยเรียงโซ่เข้าเฟืองตามความต้องการของเรา

สับจาน

  • มีหน้าที่รับคำสั่งจากชิพเตอร์ผ่านสายเคเบิล เพื่อปรับโซ่ให้วางตรงจานหน้าตามต้องการ

เบรค

  • มีหน้าที่ชลอหรือหยุดรถที่เคลื่อนที่
  • เบรคมี 2 ประเภท คือ ดิสก์เบรค และวีเบรค
  • ดิสก์เบรค ประกอบด้วยจานเบรค ปั๊มเบรค สายเคเบิ้ลหรือท่อเคเบิ้ล
  • วีเบรค ประกอบด้วยก้ามเบรค สปริง ผ้าเบรคและเคเบิ้ล
  • เบรคจักรยานจะอยู่คนละทางกับเบรคมอเตอร์ไซค์ คือ ซ้ายหมายถึงหน้า ขวาหมายถึงหลัง

หลักอานและเบาะ

  • หลักอานก็สามารถเลื่อนขึ้นลงได้ตามขนาดความสูงของผู้ขี่จักรยาน


เครดิต:

  • Link